วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

1.3 ม. 13 ว3 หน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้า

1.3 มาตรา 13 วรรค 3 หน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้า
   มาตรา 13 วรรค 3 “ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรและพนักงานศุลกากรได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว”


1) ยื่นใบขนสินค้าเมื่อใด
   1.1) ต้องยื่นก่อนที่จะนำของออกไปจากอารักขาหรือก่อนที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ม. 51 ว.1 และ 2)
    มาตรา 51 วรรค 1 และ 2 “ก่อนที่จะนำของใดไปจากอารักขาของศุลกากรหรือก่อนที่จะส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้
    การยื่นใบขนสินค้า การเสียอากร และการวางประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
   ตัวอย่างประกาศกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    -ปก.131/2561 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร ลว.8 พ.ค.61 (ม.51, 52)
    -ปก.134/61 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (ม.7, 29 - 31, 51, 63, 64, 71, 94, 96, 118, 122, 124, 126, 136, 139, 150 – 153, 155, 158 ประกอบ ม.53, 54 แห่ง พ.ร.บ. การนิคมฯ 2522)

   1.2) กรณีนำของออกไปก่อนหรือส่งออกไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้ทำใบขนสินค้า (ม. 51 ว.3)
   มาตรา 51 วรรค 3 “เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอและอธิบดีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำของใดออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือต้องส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร่งด่วน อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้นำของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรโดยยังไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าให้สมบูรณ์หรือยังไม่ต้องเสียอากรจนครบถ้วน ทั้งนี้ อธิบดีอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องขอต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ และในกรณีที่ต้องเสียอากร ให้ผู้ร้องขอวางประกันค่าอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
   รายละเอียดตามประกาศกรมศุลกากร ดังนี้
   - ปก.108/61 หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร (ม.51)

   1.3) ของติดตัวผู้โดยสารเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสำหรับของนั้น (ม. 53)
    มาตรา ๕๓ ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หากเป็นของติดตัวผู้โดยสารและมีมูลค่าไม่เกินจำนวนที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้นำของเข้าไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสำหรับของนั้น
    ในกรณีที่ของตามวรรคหนึ่งเป็นของที่ต้องเสียอากร ให้ผู้นำของเข้าเสียอากรเมื่อได้สำแดงของดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร หรือเมื่อพนักงานศุลกากรตรวจพบว่าของดังกล่าวเป็นของที่ต้องเสียอากร
    รายละเอียดตามประกาศกรมศุลกากร ดังนี้
    - ปก.60/61 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน (ม.51, 53, 157, 161, 172) ปก.79/61 แก้ไข ปก.60/2561 ยกเลิกความในข้อ 4 รับแจ้งของมีค่า)
    - ปก.65/61 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรตรวจสินค้า ณ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากร (ม.7, 50 -52, 93 - 99, 102 – 110, 118, 124, 125, 152 – 156, 158 – 161)
    - ปก.08/2561 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกของที่มีปริมาณเล็กน้อยตามแนวชายแดน ลว.19.01.61 (ม.51ว.2, 52, 91)
    - ปก.09/2561 การเก็บอากรปากระวางแก่ของซึ่งติดตัวผู้เดินทางเข้ามาทางด่านศุลกากรชายแดน ลว.19.01.61 (ม.51ว.2, 52, 91)
   
   1.4) การขอเปิดของก่อนทำใบขนสินค้า/ใบขอเปิดตรวจ (Bill of Sight) (มาตรา 54)
    มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้นำของเข้าไม่สามารถทำใบขนสินค้าสำหรับของใดได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นทั้งหมด ผู้นำของเข้าอาจยื่นคำขออนุญาตเปิดตรวจของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรนั้นได้ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าได้รับอนุญาตให้เปิดตรวจของตามวรรคหนึ่งแล้วผู้นำของเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าและไม่เสียอากรหรือวางประกันให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าของที่มีการเปิดตรวจนั้นเป็นของตกค้าง
    รายละเอียดตามประกาศกรมศุลกากร ดังนี้
    ปก.41/61 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตเปิดตรวจของเพื่อทำใบขนสินค้าขาเข้า (ม.54)

2) รายละเอียดที่จำเป็นในการสำแดงในใบขนสินค้า (มาตรา 52)
    “มาตรา ๕๒ เมื่อนำของเข้ามาในหรือจะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
   (๑) ชนิดแห่งของ
   (๒) ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพแห่งของ
   (๓) ราคาศุลกากร
   (๔) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง
   เมื่อพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบรายการที่แสดงไว้ในใบขนสินค้าแล้วเห็นว่ารายการที่แสดงไว้นั้นครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรลงนามรับรองในใบขนสินค้าหรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกำหนดเพื่อรับรองว่ารายการที่ได้แสดงไว้นั้นครบถ้วนแล้ว”
   ตัวอย่างใบขนสินค้าขาเข้า

3) การยื่นและออกเลขที่ใบขนสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
   ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ระบบพิธีการศุลกากรได้ปรับมาใช้เป็นระบบไร้เอกสารเต็มรูปแบบ (Paperless) ซึ่งเป็นการดำเนินการทางศุลกากรในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเป็นการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 11 และ 12 ดังนี้
   "ม. ๑๑ การดำเนินการทางศุลกากร ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการทางศุลกากรโดยเอกสาร ทั้งนี้ การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์"
  กรมศุลกากรได้กำหนดระเบียบปฏิบัติไว้ตามประกาศกรมศุลกากรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
  - ปก.132/61 คู่มือการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรสำหรับการส่งออก (ม.7, 52)
  - ปก.133/61 คู่มือการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้า (ม.7, 52)
  - ปก.134/61 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (ม.7, 29 - 31, 51, 63, 64, 71, 94, 96, 118, 122, 124, 126, 136, 139, 150 – 153, 155, 158 ประกอบ ม.53, 54 แห่ง พ.ร.บ. การนิคมฯ 2522)

1.4 ความรับผิดในอันที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
   ความรับผิดในอันที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ให้ถือว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีนั้น และถ้าผู้นำเข้าหรือบุคคลใดนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ภายในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ก็ให้ถือว่าเป็นการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี แล้วแต่กรณี (มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560)

1.5 ความรับผิดในอันที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
   สำหรับการนำเข้า ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (มาตรา ๗๘/๒ แห่งประมวลรัษฎากร)
   สำหรับการส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกาก (มาตรา ๗๘ แห่งประมวลรัษฎากร)


2. หลักการคำนวณอากรและราคาศุลกากร (ม. 14 - 18)
2.1 ม. 14 หลักการคำนวณสำหรับของนำเข้า
2.2 ม. 14 (1) – (3) ข้อยกเว้นการคำนวณการนำของเข้าสำเร็จ
2.3 ม. 15 หลักการคำนวณสำหรับของส่งออก
2.4 ม. 18 การขอทราบราคาศุลกากร ถิ่นกำเนิดแห่งของ หรือพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้า

3. แบบทดสอบท้ายบท

ลิขสิทธิ์โดย ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 10/07/2564
dr.sangob.ct@gmail.com
dr.sangob.blogspot.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หลักสูตรกฎหมายศุลกากรออนไลน์

หลักสูตรออนไลน์พื้นฐานกฎหมายศุลกากร (ระดับเริ่มต้น) Customs Law Fundamentals Online Course (Beginner level) สรุปพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 25...